เตรียมความพร้อม เพิ่มประสิทธิภาพการหายใจ


พื้นฐานของการหายใจ
ในขณะที่เราเพิ่มอัตราเร่งในการปั่น ความถี่ในการหายใจเข้า-ออกก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเลือดต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น แต่การหายใจถี่ก็มีผลให้ร่างกายต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกราว 15% เจมส์ ฮีวิตต์ นักสรีรศาสตร์เจ้าของเว็บไซต์ jameshewitt.net แนะนำว่า “การฝึกกล้ามเนื้อที่มีส่วนช่วยในการหายใจ จะทำให้คุณแปลงพลังงานเหล่านั้นกลับคืนสู่สมรรถนะการปั่นได้”

กระบังลมที่แข็งแกร่ง
เมื่อไม่ได้ปั่นจักรยาน ให้ฝึกกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อกระบังลมขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ซี่โครง เพื่อเปิดรับออกซิเจนเข้าปอดให้ได้มากที่สุด ลองฝึกโดยเริ่มจากนอนหงาย เก็บคางเล็กน้อยโดยไม่ต้องเกร็ง มือข้างหนึ่งวางบนหน้าอก ส่วนอีกข้างวางไว้บนท้อง จากนั้นหายใจเข้าลึกๆ ให้รู้สึกเกร็งไปถึงขาหนีบ พร้อมปล่อยให้ท้องพองตัว ซึ่งทรวงอกของเราควรจะอยู่นิ่ง ในขณะที่มือข้างที่วางไว้บนท้องขยับขึ้น-ลงตามจังหวะการหายใจ ฝึกท่านี้ 10-12 ครั้ง

จังหวะปั่นกำหนดลมหายใจ
การหายใจอย่างมีระบบและเป็นจังหวะ จะช่วยให้นักปั่นรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ลองฝึกโดยใช้จังหวะการปั่นเป็นตัวกำหนดลมหายใจ เช่น จังหวะ 2:2 คือควงบันไดสองรอบแล้วหายใจเข้า แล้วควงอีกสองรอบจึงหายใจออก

สร้างพลังแห่งการหายใจ
มีผลงานวิจัยพบว่า การฝึกหายใจโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเพื่อเพิ่มแรงต้านขณะหายใจเข้า จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อซึ่งมีส่วนช่วยในการหายใจให้แข็งแรงขึ้น โดยใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีอย่าง POWERbreathe ซึ่งจะทำงานด้วยการจำกัดอากาศขณะหายใจเข้า วิธีฝึกคือให้หายใจเข้าให้ลึกที่สุด 30 ครั้งกับอุปกรณ์ชิ้นนี้ โดยทำวันละ 2 ครั้ง ผลการฝึกบอกว่าผู้ที่ผ่านการฝึกเป็นเวลา 4 สัปดาห์จะมีกล้ามเนื้อส่วนที่ช่วยในการหายใจแข็งแรงมากขึ้น

ฝึกสมองของคุณไปด้วย
การฝึกหายใจแบบ IMT จะพัฒนาให้ปอดแข็งแกร่ง และส่งผลให้หายใจได้ลึกและนานขึ้นด้วย เมื่อปอดแข็งแรง อาการอ่อนล้าก็จะลดน้อยลง เนื่องจากไม่ต้องสูญเสียพลังงานจากการหายใจอีกต่อไปนั่นเอง

Credit by : www.cyclingplusthailand.com

ฟินเวอร์ ๆๆ รวมดาวนักปั่นสาวไทย

พบสาวสวยน่องเหล็กที่ต้องบอกว่า พวกเธออาจเป็นแรงบันดาลให้คุณหันมาออกกำลังกายใจด้วยการปั่นจักรยาน
ทุกวันนี้ ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เพราะมีประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งสำหรับสาวๆ แต่ก่อน ก็มักไม่ค่อยนิยมออกกำลังกาย โดยเฉพาะกับกีฬาตากแดดตากลมอย่างจักรยาน แต่คราวนี้ เรามีหลักฐานว่า สาวสวยยุคนี้บางคน ก็ไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว
‘หวานหวาน’ อรุณณภา พาณิชจรูญนักแสดงสาวจากวิก 3 ผู้นี้ มีฉายาว่า ‘นางฟ้านักปั่น’ ด้วยความสวยระดับดาราที่แจ้งเกิดจากละคร ‘ขุนศึก’ บวกกับความรักในกีฬาน่องเหล็ก เห็นได้จากเฟซบุ๊ค, อินสตาแกรมที่มีแต่เรื่องราวเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน แถมลงแข่งจริงจังจนคว้ารางวัลมาได้ประปราย
‘ปูนิ่ม’ ธานัท วัชระอภิญาเมื่อมองผิวเผิน หลายคนอาจไม่เชื่อว่า จะชอบการปั่นจักรยาน ด้วยความเป็นสาวแนวขาวสวยใสสไตล์ ‘พริ้ตตี้’ จนคว้ารางวัล Angle Bike 2014 โดยเป็นสาวสวยอีกคนที่พบเจอได้ตามกิจกรรมหรือการแข่งขันต่างๆ ใครเป็นสายปั่นน่าจะได้เจอตัวจริงของเธอบ้างแล้ว
‘มิ้นท์’ วณิชชา กาญจนอภิรักษ์ด้วยความรักในการปั่นจักรยานและมุ่งมั่นตั้งใจทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบมาโดยตลอด ‘มิ้นท์’ จึงมีโอกาสได้เข้าร่วม ‘บีจี มีเดีย ไซคลิ้ง คลับ (BG Media Cycling Club)’ ซึ่งมักออกตระเวนไปแข่งขันตามรายการต่างๆ ในระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นส่วนใหญ่
‘นัด’ ณัทญา  สกุลภูริภัทร์เธอมีฉายาว่า ‘เซเลบสาวแห่งสุวรรณภูมิ’ สำหรับสาวสวยนามว่า ‘นัด’ ซึ่งมีดีกรีเป็นอดีตนักวอลเลย์หญิงทีมชาติที่มีเพื่อนร่วมทีมอยู่ในชุดปัจจุบัน แต่เพราะมีปัญหาอาการบาดเจ็บเลยมาปั่นจักรยานแทน โดยเป็นที่รู้จักกันดี สำหรับสายนักปั่นแถวสนามบินสุวรรณภูมิ
‘ยุ้ย’ วดี ปฐมกาญจนาสาวสวย (มาก) คนนี้มีชื่อเสียงจากทั้งหน้าตาที่น่ารักดูดีและการเป็นสมาชิกทีม W2 โดยตัวเธอนั้น ได้ปั่นจักรยานมาตั้งแต่เด็กและมีโอกาสลงแข่งขันเรื่อยมาจนเกิดอุบัติ แล้วหยุดเล่น แต่ด้วยใจรัก จึงกลับมาปั่นจักรยานอีกครั้งกับเสือหมอบคู่ใจไปตามรายการต่างๆ
‘สอง’ รวิรัฐ ศรีโสภาจากเน็ตไอดอลสุดน่ารักฟรุ้งฟริ้ง สู่วงการน่องเหล็กในทีมสปอร์ต ไบค์ ซึ่งชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว กีฬาประเภทจักรยานจึงสามารถตอบโจทย์เธอได้เป็นอย่างดีจนเข้ามาสู่วงการนี้อย่างจริงจัง โดยถือเป็นนักปั่นสาวอีกคนที่มีสื่อติดต่อขอสัมภาษณ์มากมาย
‘เอ๋’ พรรณษร ปฐมาภินันท์อดีตนักแสดงสาวหน้าหวาน เจ้าของรีสอร์ทชื่อ ‘มอร์นิ่ง กลอรี่ (Morning Glory) ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยถ้าว่างเว้นจากการงานเมื่อใด เธอจะปั่นจักรยานออกไปเที่ยว ซึ่งผู้หญิงคนนี้ ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเส้นทางการปั่นจักรยานใน อ.สวนผึ้ง ให้โด่งดัง
‘ยู้’ ทิพย์วลี จารุหิรัญสกุลสำหรับ ‘ยุู้’ แม้เธอจะมีชื่อทางด้านการวิ่งระยะไกล แต่กีฬาอีกชนิดหนึ่งที่เธอโปรดปรานไม่แพ้กันคือ จักรยาน โดยในเฟซบุ๊คของเธอนั้น นอกจากมีภาพในการวิ่งรายการต่างๆ แล้ว ยังแอบมีจักรยานปะปนเป็นระยะ ซึ่งนับเป็นสาวสวยอีกคนมีใจรักการปั่นไม่แพ้ใคร
นี่คือ ส่วนหนึ่งจากความน่ารักของนักปั่นสาวชาวไทย ส่วนคนอื่นๆ ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะทุกคนก็มีความน่ารักในแบบตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งถ้าได้ออกกำลังกาย ก็น่าจะทำให้ดูสวยใสสุขภาพดียิ่งขึ้นไปอีก ขอเพียงแค่ให้คุณสนุกกับการออกกำลังกายที่ตัวเองชอบแล้วกัน
ที่มา: ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก facebook.com

เตรียมตัว ซ้อมปั่นจักรยานแบบผิดๆ กันอยู่หรือเปล่า

วันนี้เราขอแนะนำบทความดี ๆ ที่อยากให้นักปั่นจักรยาน ลองอ่านกันครับ เนื่องจากทางแอดมินก็เป็นคนนึงที่ เคย เตรียมตัวแบบไม่ค่อยต้องกับบทความนี้เท่าไร 55 ลองดูและตรวจสอบกับตัวเองครับ


  1.  นอน พักผ่อน ไม่พอ  อ่ะแน่ แค่นอน และพักผ่อน ก็ทำได้ไม่เต็มที่แล้ว การปั่นมันจะได้ผลเมื่อไปซ้อมได้ยังไงกันจ้ะนักปั่น  หรือด้วยเหตุผลต่างๆ ที่เรานอนไม่พอ ควรเลี่ยงการฝึกซ้อมปั่นจักรยานออกไปก่อน เราต้องนอนให้เพียงพอวันละ 7-9 ชั่วโมง นักเนี้ยนอนหลับสนิทนะจ้ะ ไม่ใช่เริ่มนอน การนอนหลับผักผ่อน คือการซ่อมแซมความสึกหรอจากกิจกรรมที่คุณทำในระหว่างวันได้ทั้ง ร่างกายกล้ามเนื้อ และ จิตใจนะจ้ะ 
  2. ดื่มน้ำไม่พอ  ปัญหาใหญ่นะจ้ะ   น้ำจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทั้งก่อน ระหว่างและหลังการปั่น สภาวะขาดน้ำระหว่างออกกำลังกายมีโทษต่อร่างกายหลายประการถึงขั้นมีคนเสียชีวิตมาแล้ว  ในหนึ่งวันเราอาจเสียน้ำผ่านทางเหงื่อได้มากถึง 3.3 ลิตรในสภาพอากาศร้อนอย่างประเทศไทย ถ้าบวกการออกกำลังกายเข้าไปด้วยก็อาจจะเสียได้มากถึง 7 ลิตร  ถึงไม่ได้รู้สึกกระหายน้ำมาก จิบน้ำทุกๆ 15-20 นาที
  3. การกินแบบผิดวิธี กินเมื่อหิว เป็นวิธีที่ผิดมาก เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกหิว ในการปั่นจักรยาน มันคือการเตือนว่าสายไปแล้ว จนระดับน้ำตาลในเลือดของคุณต่ำ ปั่นจักรยานกันนานเกิน 2 ชั่วโมง ก็จงกินทุก ๆ 45 นาทีหรือถ้าจะขี่กันนานเกินกว่า 4 ชั่วโมงก็ให้หยุดพักแล้วหาอะไรใส่ท้องทุกๆ 2 ชั่วโมง จากอาหารที่ไม่หนักมาก เช่น กล้วยหอม แซนวิท กล้วยตากอบน้ำผึ้ง ที่พบสะดวกนั้นจะดีมาก อย่าลืมอย่าปล่อยให้จนหิว
  4. ไม่สบายแล้วยังซ้อม ไม่มีประโยชน์นะจ้ะ สั้นๆ ไม่อธิบายมาก จำกัดความ เหนื่อยเปล่า
  5. สภาพจิตใจ ไม่พร้อม ใจเป็นนายกาย จ้ะ ถ้าใจไม่พร้อม สมาธิไม่มี จะลงซ้อมปั่นไปนี้คงไม่ได้อะไร สนุกกับการขี่จักรยาน คือสิ่งที่ควรได้เต็มๆ
  6. ซ้อมมากเกินไป ขยันซ้อมเป็นเรื่องดี แต่ทุกอย่างบนโลกใบนี้ อยู่ที่ความพอดีนะจ้ะ มากไปซ้อมให้มากขึ้น ทั้งเพิ่มระยะทาง ปั่นขึ้นเขา ถ้าวางแพนไม่ดี ผลการซ้อมไม่ได้ดีตามนะ อาจจะแย่กว่าเดิม หรือวันแข่ง วันออกทริป ผลงานแย่กว่าเดิม ค่อยวางแผน และซ้อมเป็นขันตอนนะจ้ะ
เรียบเรียง roomting89

เกียร์รุ่นต่างๆ ของ Shimano มันต่างกันอย่างไร




วันนี้เรามาคุยกันเรื่องของเกียร์กันดีกว่าครับ จักรยานแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ราคาก็ไม่เท่ากัน บางคนอาจจะได้ยินโฆษณา 24 ,27 speed หรือ 8 เกียร์ 9 เกียร์ มันคืออะไรกันแน่ 
มาว่ากันเรื่องของการนับเกียร์ก่อนครับ 
จักรยานทั่วไป จะมีเกียร์เรียงลำดับกันดังนี้ คือ 18,21,24,27 ซึ่งที่มาก็คือ ปกติจานหน้าจะมี 3 ใบ และจำนวนจานหลังก็จะแตกต่างกันออกไป เช่นหากเกียร์หลังหากมี 6 ใบก็เท่ากับ 3x6 =18 เกียร์ หรือปัจจุบันเกียร์สูงสุดมี 9 ใบ ก็เท่ากับ 3x9 = 27 เกียร์นั่นเอง กล่าวคือ จานหน้า 1 ใบ เปลี่ยน speed จากเกียร์หลังได้ 9 speed นั่นเอง เพราะฉนั้นหากเราไปซื้อจักรยาน แล้วร้านบอกว่า 24 speed ก็หมายถึง เกียร์หลังมี 8 ใบนั่นเอง 
ในปัจจุบัน จักรยานเสือภูเขา มีเกียร์สูงสุดแค่ 27 เกียร์ (เกียร์หลังสูงสุดแค่ 9 ใบ) ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ในการออกแบบเกียร์หลังให้มีใบมากๆนั้น มีจำกัด และขนาดของโซ่ก็ต้องเล็กตามไปด้วย ซึ่งโซ่ที่ใช้ในปัจจุบัน หากใช้ 24 เกียร์ โซ่จะหน้ากว่า เกียร์ 27 เกียร์ โดย 27 เกียร์ต้องใช้โซ่ รหัส HG ซึ่งจะบางกว่าโซ่ทั่วไป 
จำไว้ให้ดีว่าชิ้นส่วนของเกียร์แต่ละรุ่นนั้น ไม่ได้มีแค่เฉพาะเกียร์เท่านั้น แต่มีด้วยกันถึง 10 ชิ้นคือ จานหน้า , จานหลัง , โซ่ , มือเบรค , มือเกียร์ , ดุมหน้า , ดุมหลัง , สับจานหน้า , ตีนผี และ ก้ามเบรค 

การกำหนดประเภทของเกียร์
ปัจจุบันจะมีเกียร์ที่ทำมาจำหน่ายและนิยมใช้กันสองยี่ห้อครับ คือ
Shimano การเปลี่ยนเกียร์จะใช้ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้เป็นตัวเปลี่ยนเกียร์ทีละขึ้น ทั้งจานหน้าและจานหลัง
SRAM การเปลี่ยนเกียร์จะใช้วิธีบิดหนุน ที่แฮนด์จักรยาน ซึ่งเปลี่ยนได้เร็วกว่าแบบ Shimano เราเรียกว่า Grip Shift
นที่นี้ผมจะกล่าวถึง Shimano อย่างเดียวครับ เนื่องจากมีผู้นิยมใช้มากกว่า SRAM ซึ่งผลิตสำหรับระดับแข่งขันมากกว่า Shimano ซึ่งทำเกือบทุกๆรุ่นของจักรยาน

ประเภทของเกียร์ Shimano 
เกียร์ของ Shimano เป็นที่รู้จักกันดีในตลาดจักรยานบ้านเรา และเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทั้งเรื่องของประสิทธิภาพ ราคา ความแข็งแรง โดยผมจะพูดถึงเกียร์ที่เป็นมาตรฐานสำหรับจักรยานเสือภูเขาในระดับราคา ปานกลาง คือตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไปครับ เพราะจักรยานที่ ราคาถูกกว่านี้ เกียร์ของ Shimano จะเป็นรุ่นที่ไม่มีข้อมูลของเกียร์เลย เนื่องจากทำเพื่อรถราคาถูก และวัสดุที่ใช้ทำไม่เหมาะกับการเอามาลุย ตามป่าเขาครับ เหมาะที่จะเอาไปขี่ตามถนน หรือหมู่บ้านมากกว่า โดยผมจะพูดถึงเกียร์ที่ราคาถูกที่สุด และใช้กับจักรยานราคาต่างๆกันไปด้วยเลย


1. Shimano Tourney
เป็นเกียร์ที่ถูกที่สุดของ Shimano ที่มีติดอยู่ในจักรยานราคา 6-8 พันบาทในบ้านเรา มีผลิดอยู่ไม่กี่ชิ้น คือมือเกียร์ เฟืองหลัง โซ่ สับจานหน้า สับจานหลัง ใช้กับจักรยานราคาถูก มีผลิตตั้งแต่ 5 , 6 และ 7 เกียร์ (15,18,21 speed) หากพบเกียร์ชื่อนี้อยู่ในราคาจักรยานที่แพงกว่าหมื่น ก็ควรเลือกจักรยานคันอื่นเถอะครับ เพราะจะได้เกียร์ดีกว่านี้แน่นอน และรถที่ใช้เกียร์นี้ไม่เหมาะใช้ในการแข่งขัน หรือขี่ตามภูเขา เนื่องจากเปลี่ยนเกียร์บนเขาทำได้ยาก


2. Shimano Altus

เป็นเกียร์ระดับที่เริ่มใช้สำหรับ การขี่เสือภูเขา ตามป่า หรือทางออฟโรดได้ แต่ยังไม่ดีนัก ส่วนใหญ่ติดมากับจักรยานราคา 1 หมื่นต้นๆ และมีแค่ 7 เกียร์เท่านั้น (21 speed) โดยส่วนมากจะนิยมผสมเกียร์ Altus กับเกียร์ในระดับสูงกว่า เพื่อให้จักรยานมีประสิทธิภาพมากขั้น เช่น จานหน้าใช้ Altus จานหลังใช้ที่สูงกว่า เช่น Acera สำหรับเกียร์ Altus นั้น ถือว่าเป็นเกียร์ในระดับต้นของจักรยานเสือภูเขาเลยทีเดียว และผลิตครบทั้ง 10 ชิ้น 


3. Shimano Acera

เป็นเกียร์ระดับต้น ที่สูงกว่า Altus เหมาะกับการขี่เสือภูเขาแบบท่องเที่ยว ตามป่าเขา ไม่เน้นใช้งานหนัก มีเกียร์สูงสุด 8 เกียร์ (24 speed) จะพบเห็นติดกับจักรยานในราคาประมาณ 15,000 บาท สามารถขี่ตามป่าเขาได้ดี แต่ช่วงขึ้นเนินหรือภูเขา การเปลี่ยนเกียร์อาจไม่นิ่มนวล หรือใส่เกียร์ไม่เข้า เวลาโซ่ตึงมากๆ 


4. Shimano Alivio

เป็นเกียร์ระดับต้นที่สูงกว่า Acera เหมาะกับการขี่เสือภูเขาแบบท่องเที่ยวตามป่าเขา ใช้งานหนักได้ดีพอควร (ใหม่ๆ) มีเกียร์สูงสุด 8 เกียร์ จะติดกับจักรยานราคา 15,000-18,000 เหมาะกับมือใหม่ที่ขี่บนถนน ทางลูกรัง ตามป่าเขา ซิงเกิลแทรก การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลพอควร แต่หากขึ้นเขา อาจจะใส่เกียร์ไม่เข้าในบางจังหวะ เมื่อใช้งานไปนานๆ จานหน้าจะสึก และเกียร์จะเข้าได้ยากขึ้น 


5. Shimano Deore 
เป็นเกียร์ระดับกลาง หรือ 9 เกีบร์ระดับต้น เป็นเกียร์ที่ขยับจาก 8 เกียร์มาเป็น 9 เกียร์ ใช้งานได้ดีในทุกพื้นที่ และใช้เข้าแข่งขันได้ ส่วนใหญ่ราคาจักรยานที่ใส่เกียร์ Deore นี้จะราคาประมาณ 18,000-25,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้นส่วนของเกียร์ที่ใส่กับจักรยาน ในปีใหม่ๆ Deore ได้เพิ่ม Disk Brek เข้ามาด้วย ทำให้มีทางเลือกสำหรับคนงบน้อยได้มากขึ้น จานหน้าของ Deore จะเป็นหมุดดันโซ่ ซึ่งดีกว่าเกียร์ระดับต่ำกว่าที่ใช้ปั้มขึ้นรูปโลหะที่สึกหรอได้ง่าย การเปลี่ยนระดับเกียร์จากเกียร์รุ่น 8 เกียร์มาเป็น Deore นั้น จะต้องเปลี่ยนโซ่ด้วย มาเป็น รหัส HG เนื่องจากจานหลังจะแคบกว่า 8 เกียร์ 


6. Shimano Deore LX
เป็นเกียร์ระดับสูงที่ใช้กับการแข่งขัน หรือขี่ในสภาพลุยๆ ใช้งานหนักปานกลาง มี 9 เกียร์ ราคาจักรยานที่ใส่ XL จะราคาตั้งแต่ 25,000 บาทขึ้นไป ชิ้นส่วนของเกียร์เน้นที่ความแข็งแรง ความนุ่มนวลในการเข้าเกียร์ น้ำหนักที่เบาลง วัสดุที่ใช้ทำเกียร์ LX จะแข็งแรงขึ้น แต่น้ำหนักลดลงกว่าเกียร์แบบที่กล่าวมาข้างต้นพอควร ผู้มีงบปานกลางหากต้องเปลี่ยนเกียร์จักรยานที่ใช้อยู่ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ก็แนะนำ LX ครับ ทั้งชุด 10 ชิ้นราคาประมาณ 25,000 บาท (ประมาณนะครับ) Deore LX ถือว่าเป็นเกียร์มาตรฐานที่สุด ที่ใช้ในการแข่งขันครับ 


7. Shimano Deore XT
เป็นเกียร์ระดับแข่งขัน ที่พัฒนามาเพื่อการแข่งขันที่ใช้งานหนัก ความแข็งแรงเพิ่มขึ้น คงทนมากขึ้น และนำหนักจะเบาขึ้น การขึ้นรูปวัสดุจะมีความละเอียดมากขึ้น สามารถเข้าเกียร์ได้นุ่มนวลและเร็วมาก เหมาะกับผู้ที่ต้องการจักรยานที่ใช้ลุยแบบหนักๆ ราคาจักรยานที่ใช้ Deore XT นี้จะอยู่ที่ 40,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยี่ห้อจักรยานและการผสมกันระหว่างอะไหล่ตัวอื่นๆด้วย ใครต้องการให้รถตัวเองมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็ใช้ XT นี่แหละครับ


8. Shimano Deore XTR
ชุดเกียร์ระดับ Top สุดของ Shimano ซึ่งทำเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเกียร์ และน้ำหนักที่เบาลง โดย XTR นี้จะ Design ขึ้นมาเป็นพิเศษ สำหรับการแข่งขัน เพราะมีการขึ้นรูปที่ละเอียดมาก วัสดุที่ใช้ก็เป็นเกรดที่แข็งแรงมาก ราคาเกียร์ทั้งชุด 10 ชิ้นประมาณ 50,000 บาท ส่วนใหญ่นักแข่งทั่วไป นิยมใช้ผสมกันระหว่าง XT และ XTR ใครเปลี่ยนครบ 10 ชิ้น น้ำหนักรถคงเบาลงไปเยอะเลยครับ อ้อ XTR ยังมีตีนผีที่เราเรียกว่าระบบ Reverse ครับ คือแทนที่จะใช้นิ้วโป้งเปลี่ยนเกียร์หลังให้เบาลง ก็สลับกันครับ ใช้นิ้วชี้เปลี่ยนเกียร์เบาแทนโดยใช้สปริงเป็นตัวช่วยเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งผมก็ใช้รุ่นนี้ดีเหมือนกันครับ ก็แล้วแต่คนชอบครับ และ XTR ยังมีแบบตีนผี ขาสั้นขายาวด้วยนะครับ เลือกใช้กันตามชอบครับ

ทั้งหมดนี้ก็คือระดับเกียร์ทั้งหมดของเกียร์ Shimano ที่นิยมใช้ในวงการจักรยานบ้านเรา หวังว่ามือใหม่หลายๆท่าน คงจะเข้าใจเกียร์จักรยานมากขึ้นนะครับ เวลาเราไปซื้อรถใหม่ ก็ให้ดูเกียร์ก่อนเลย ว่าแต่ละชิ้นนั้น ใช้ของอะไร ส่วนใหญ่จะนิยมเปลี่ยนบางชิ้น ตอนที่ซื้อ เพราะจะเคลมราคาของที่ติดรถได้ด้วย สำหรับมือใหม่ที่มีเงินสัก 20,000 ขึ้นไป ผมแนะนำให้เปลี่ยน ตีนผีเป็น XT หรือ XTR (1,800-3,500 บาท) เพราะการเปลี่ยนเกียร์ทำได้นุ่มนวลมาก ส่วนจานหน้า เราไม่ได้เปลี่ยนเกียร์บ่อยเท่าไหร่ ระดับ Deore จานสีดำก็เหลือเฟือครับ โซ่ก็ใช้ไปก่อน หากขาดค่อยใช้ของ XTR (900 บาท) จะแข็งแรงมาก หรือมีเงินอีกนิด ผมแนะนำให้เปลี่ยนเฟืองหลัง เป็นของ XT (2,300 บาท) ไปด้วยตอนซื้อจักรยานเลย เท่านี้ระบบเกียร์ของคุณก็ถือว่าสุดยอดแล้วครับ 
ยังมีเกียร์ Shimano อีกตัวคือ Airlines ที่ใช้ลมในการเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งผมเองก็ยังไม่เคยเห็นใครใช้เหมือนกัน เพราะการขี่แต่ละครั้ง ต้องเอาถังลมเล็กๆ ติดรถไปด้วย เพื่อใช้ในการเปลี่ยนเกียร์ครับ

ที่มา : thaimtb.com

10 อาการและสาเหตุการปวดเมื่อยจากการขี่จักรยาน และวิธีการแก้ไข

ไปเจอมาครับ เลยนำมาฝากกัน :)



นักจักรยานหลายๆมักมีคำถาม มาถามบ่อยๆว่า รู้สึกปวดเมื่อยหลังจากการปั่นจักรยาน ทั้งระยะทางใกล้ และระยะทางไกล จึงได้เจอบทความของเว็บไซต์จักรยานไทย ได้อธิบายเกี่ยว อาการ สาเหตุและวิธีการแก้ไขไว้พร้อม เลยอยากให้ทุกท่านลองอ่าน ทำความเข้าใจกันดูค่ะ

1. อาการ : เวลาปั่นคุณมักจะต้องเขยิบตัวไปข้างหลังบ่อยครั้ง
สาเหตุ : คอแฮนด์ หรือสเตมยาวเกินไป, องศาของเบาะนั่งก้มลงมากเกินไป
การแก้ไข : เปลี่ยนคอแฮนด์ให้สั้นลง, ปรับองศาเบาะนั่งให้เงยขึ้นเล็กน้อย

2. อาการ : เวลาปั่นคุณมักจะต้องเขยิบตัวไปข้างหน้าบ่อยครั้ง
สาเหตุ : คอแฮนด์ หรือสเตมสั้นเกินไป, เบาะนั่งถูกปรับไปข้างหลังมากเกินไป
การแก้ไข : เปลี่ยนคอแฮนด์ให้ยาวขึ้น, ปรับเบาะนั่งไปข้างหน้าตามความเหมาะสม

3. อาการ : อาการปวดหลังส่วนล่าง
สาเหตุ : คอแฮนด์ หรือสเตมต่ำเกินไป, เบาะนั่งสูงเกินไป
การแก้ไข : ปรับคอแฮนด์ขึ้น, ปรับเบาะนั่งลงตามความเหมาะสม

4. อาการ : ปวดต้นคอเวลาปั่น
สาเหตุ : ปรับตั้งคอแฮนด์ต่ำเกินไป
การแก้ไข : ปรับคอแฮนด์ให้สูงขึ้น ตามความเหมาะสม

5. อาการ : ปวดมือ, เจ็บมือ
สาเหตุ : คอแฮนด์ต่ำเกินไปทำให้น้ำหนักตัวไปอยู่ตรงส่วนหน้ามากเกินไปส่งผลถึงมือของเราต้องรับน้ำหนักมาก ไปด้วยจึงทำให้ปวดมือ
การแก้ไข : ปรับตั้งคอแฮนด์ให้สูงขึ้นตามความเหมาะสม

6. อาการ : ปวดหัวเข่าด้านหน้า
สาเหตุ : เบาะนั้งต่ำเกินไป
การแก้ไข : ปรับเบาะนั่งให้สูงขึ้นอย่างเหมาะสม

7. อาการ : ปวดหัวเข่าด้านหลัง
สาเหตุ : เบาะนั่งสูงเกินไป
การแก้ไข : ปรับเบาะนั่งให้ต่ำลงตามสมควร

8. อาการ : รู้สึกก้นชาตลอดเวลาการปั่น
สาเหตุ : น้ำหนักตัวส่วนใหญ่ลงมาที่เบาะนั่งมากเกินไป
การแก้ไข : ปรับคอแฮนด์ให้ต่ำลง หรือปรับเบาะนั่งให้สูงขึ้นแล้วแต่ความเหมาะสม

9. อาการ : รุ้สึกร้อนที่เท้า หรือปวดร้อนเท้าเวลาปั่น
สาเหตุ : รองเท้าปั่นคับเกินไป, คลิปล็อคบรรไดถูกปรับไปข้างหน้ารองเท้ามากเกินไป
การแก้ไข : หารองเท้า จักรยาน คู่ใหม่ที่ใหญ่กว่าเท้าเรา 1 เบอร์ เช่น เท้าเปล่าเราเบอร์ 40 ให้หารองเท้าเบอร์ 41 หรือ 41 ครึ่ง , ปรับคลิปล็อคบรรไดให้ถอยมาข้างหลังอย่างเหมาะสม

10. อาการ : ปวดเอ็นร้อยหวาย
สาเหตุ : ในการปั่นคุณลงน้ำหนักไปที่นิ้วเท้ามากเกินไป หรือคุณปรับคลิปล็อคบรรไดไปข้างหน้ามากเกินไป
การแก้ไข : ปรับคลิปล็อคบรรไดถอยกลับมาตามความเหมาะสม

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : http://thbike.blogspot.com

ปั่นจักรยานอย่างไร ให้ห่างไกล “โรคปวดหลัง”


ปัจจุบันการปั่นจักรยานกำลังเป็นเทรนด์ฮิตในคนยุคปัจจุบัน เพราะสามารถปั่นได้ในทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อออกกำลังกาย หรือปั่นเพื่อเป็นยานพาหนะเดินทาง ก็ล้วนแต่ส่งผลดีต่อสุขภาพ แถมยังเป็นการประหยัดพลังงานลดโลกร้อนอีกด้วย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักปั่นหน้าใหม่และหน้าเก่า ก็มักจะพบกับอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดเอว เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มักเกิดจากการปั่นที่ไม่ถูกท่า ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ วันนี้ นพ.ดุสิต ศรีสกุล แพทย์ประจำศุนย์โรคปวดหลัง โรงพยาบาลลานนา จะมาให้ความรู้และคำแนะนำ เกี่ยวกับท่วงท่าต่างๆ ที่จะลดอาการปวดหลังจากการปั่นจักรยานกันครับ

นพ.ดุสิต ศรีสกุล แพทย์ประจำศูนย์โรคปวดหลัง โรงพยาบาลลานนา ให้คำแนะนำว่า “การปั่นจักรยานเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูก หากนักปั่นไม่มีความพร้อมในด้านร่างกายหรืออาจปั่นในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะนักปั่นจักรยานเสือหมอบ เพราะด้วยลักษณะรูปร่างของจักรยาน ที่นักปั่นจะต้องอยู่ในท่าเดียวนานๆ ทำให้นักปั่นอาจเกิดอาการปวดหลัง ปวดคอได้ และไม่เพียงแต่จักรยานเสือหมอบเท่านั้น แต่ก็หมายถึงจักรยานทุกๆประเภทด้วยเช่นกัน

นอกจากความพร้อมของร่างกายที่นักปั่นจะต้องมีความแข็งแรงแล้ว ควรใส่ใจกับท่าทางในการปั่น และอุปกรณ์ของจักรยานด้วย เช่น การปรับท่านั่งในการปั่น ควรปรับระดับของอานนั่งให้เหมาะสม เพราะระยะห่างจากอานนั่งจะมีผลต่อการบาดเจ็บของขา เอว และสะโพกได้ เช่น หากอานนั่งมีระดับสูงเกินไป ก็จะทำให้ยืดขามาก ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังและสะโพกออกแรงมาก ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดเอวได้ หรือหากอานนั่งมีระดับต่ำเกินไป ก็จะส่งผลให้เวลาปั่นเข่าอยู่ในลักษณะงอมากๆ ก็ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บได้เช่นกัน ระดับของอานที่เหมาะสม คือ เมื่อนั่งบนอานและถีบขาให้บันไดวางเท้าซ้ายและขวาอยู่ในตำแหน่งตรงกลางซึ่งท่าที่เหมาะสมคือ ปลายเข่าของเราจะต้องตรงกับแกนกลางของบันไดในแนวดิ่ง จะเห็นว่าแนวเชือกจากปลายเข่าจะดิ่งตรงลงมาที่แกนบันไดซึ่งถือเป็นต่ำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด รวมทั้งระยะห่างของแฮนด์จับก็สำคัญเช่นกัน ต้องให้สมดุลกับระดับของอานนั่งด้วย เพื่อไม่ให้ต้องก้มตัวและเงยหน้ามากเกินไป

วิธีการหลีกเลี่ยงปัญหาอันเกิดเนื่องมาจากการปั่นจักรยาน อันดับแรก คือ การเตรียมพร้อมร่างกาย เมื่อกายพร้อมแล้วก็ต้องมาดูเรื่องของอุปกรณ์จักรยาน คือ จักรยานต้องพร้อม เช็คเบรค เช็คลม รวมทั้งการปรับระดับของอานนั่งและแฮนด์จับที่เหมาะสม ให้ผู้ปั่นรู้สึกสบายที่สุดเมื่อนั่งอยู่บนจักรยาน และที่สำคัญก็คือ เรื่องของอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ เช่น หมวกกันน็อค ถุงมือ เสื้อผ้า รองเท้าต่างๆ ต้องพร้อมด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นควรศึกษาเส้นทางที่จะไปให้ดี ไม่ควรหักโหมมาหเกินไป หากเหนื่อยก็พัก หรือหยุดเปลี่ยนอริยบถท่าทางต่างๆบ้าง เพื่อยืดเส้นยืดสาย คลายเมื่อยกันบ้าง

การปั่นจักรยานที่ถนอมหัวเข่า



อาการปวดเข่าเมื่อปั่นจักรยานนั้น เกิดขึ้นจากการปั่นจักรยานด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมกับอาการเจ็บเข่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้โดยปกติแล้วการปั่นจักรยาน จะมีการเคลื่อนไหวและใช้แรงที่หัวเข่า ดังนั้นการเกิดความรู้สึกปวดเข่าได้บ้าง แต่… คุณทราบไหมว่าจริงๆ แล้วหากไม่นับในผู้ที่มีปัญหาในเรื่องอาการข้อเข่า ที่เกิดจากการบาดเจ็บ หรือเป็นโรคไขข้อมาก่อนและมีอาการกำเริบเองแล้ว การที่เรารู้สึกปวดหัวเข่าจากการปั่นจักรยาน เป็นเรื่องที่… ผิดปกติ ! เพราะจักรยานนั้นหากใช้งานอย่างถูกต้องแล้ว มันเป็น อุปกรณ์ออกกำลังกาย ที่จะไม่เกิดแรงกดรุนแรงที่หัวเข่าจนเกิดอาการบาดเจ็บได้ แม้จะเป็นอาการปวดเข่าไม่มาก

สาเหตุที่มาของอาการปวดเขาจากการปั่นจักรยาน ที่พบมากที่สุด ก็คือ
1 การปรับขนาดความสูงของเบาะที่ไม่เหมาะสม ความสูงที่น้อยเกิดไป เวลาปั่น หัวเข่าจะทำมุมแหลม อยู่แทบตลอดเวลา นั่นทำให้เกิดการเสียดสีตรงข้อต่อที่หัวเข่า ซึ่งเป็นที่มาของอาการปวดเข่าในขณะปั่น หรือหลังจากปั่นเสร็จแล้ว ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนานๆ อาจเกิดปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมถามหากันได้เลย การแก้ไขก็เพียงแต่ปรับความสูงของเบาะให้เพิ่มขึ้น ให้ดูที่เวลาปั่น หัวเข่าจะทำมุมเป็นมุมป้านไม่ใช่มุมแหลม การเหยียดขาเวลาปั่นสุด ขาเกือบจะตรง การปั่นในลักษณะนี้จะไม่เกิดแรงกดที่หัวเข่าที่ทำให้การปวดได้

2.ใช้เกียร์หนักเกินไป การใช้เกียร์หนักทำให้เข่าต้องออกแรงปั่นมาก ดังนั้นควรจะใช้เกียร์ต่ำและปั่นรอบเยอะแทน

3. ปั่นบนทางที่ชันเกินไป ใครที่เคยมีอาการข้อเข่าเสื่อม หรือมีอาการบาดเจ็บมาก่อน ก็สามารถปั่นจักรยานได้ แต่ควรเป็นการปั่นทางเรียบ แต่หากจะให้ดี ควรเริ่มต้นจากการปั่นจักรยานประเภท Spinning Bike ที่ปั่นอยู่กับที่ก่อน เพื่อให้กล้ามเนื้อและหัวเข่ามีความพร้อม ขึงค่อยออกไปปั่นตามถนน แต่จริงๆ แล้วการปั่นในบ้านก็ได้ผลดีในทางการออกกำลังกายเช่นเดียวกัน จะดีกว่าด้วยซ้ำในเรื่องความปลอดภัย และไม่เกิดปัญหาเรื่องแรงกระแทกที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บกำเริบ

ขอย้ำอีกครั้งว่า การปั่น จักรยานออกกำลังกาย นั้นหากเป็นปกติและถูกต้องแล้ว มันจะไม่ก่อให้เกิดอาการปวดที่หัวเข่า หากว่ามีอาการเมื่อใด ขอให้เริ่มต้นหาสาเหตุ และแก้ไข อย่าชะล่าใจ มันจะกลายเป็นอาการเจ็บเรื้อรังขึ้นมาได้

Source : http://www.elib-online.com/doctors/ortho.html

6 วิธีฟื้นฟูร่างกายหลังการปั่นจักรยาน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าหลังจากออกปั่นแล้วเราควรดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสารอาหาร การพักผ่อน การดูแลกล้ามเนื้อที่เมื่อยล้า วันนี้มาทำความเข้าใจอาการปวดระบมหลังการออกปั่นหนักๆ และวิธีการฟื้นฟูร่างกายกันครับ


นักปั่นจำนวนไม่น้อยลงทุนเงินก้อนโตไปกับการซื้อเฟรมคาร์บอนเบาหวิว และล้อขอบสูงเพื่อหวังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็ว แต่ก็ละเลยการดูแลร่างกาย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญมากกว่าอุปกรณ์ต่างๆ เสียอีกครับ สภาพร่างกายของเราเป็นตัวชี้ว่าเราจะปั่นได้ไกลและเร็วขนาดไหน ถ้าเราละเลย อุปกรณ์ทีจะช่วยเพิ่มความสามารถเราก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะตัวเรายังไม่มีแรงจะปั่น ที่สำคัญการดูแลร่างกายให้ถูกต้องจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บต่างๆ รวมไปถึงช่วยให้เราไม่เหนื่อยล้าจนไม่มีแรงไปทำอย่างอื่น

อาการเมื่อยล้า 4 ประเภท

ก่อนที่จะดูว่าเราต้องพักผ่อนและทานอะไรบ้าง ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าอาการเมื่อยล้า ปวดเนื้อปวดตัวหลังออกปั่นจริงๆ แล้วมันมีหลายแบบและมีความต่างอยู่พอสมควร ต้องรู้ว่าร่างกายเราตกอยู่ในประเภทไหน จะได้ดูแลมันถูกต้องครับ

1. แรงหมดระหว่างการปั่น – คืออาการที่ร่างกายเหนื่อยล้าเพราะใช้ไกลโคเจน หรือคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายสะสมไว้ในกล้ามเนืิ้อ ไปจนหมด ส่วนใหญ่อาการจะออกเวลาปั่นไปได้สัก 1-2 ชั่วโมง ควรมีอาหารหรือขนม อย่างกล้วยติดตัวไปถ้าต้องปั่นเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยเพิ่มไกลโคเจนระหว่างการปั่น

2. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังการปั่น (Post ride fatigue) – เป็นการตอบสนองปรกติของร่างกาย เกิดขึ้นหลังการออกกำลังกายหนักๆ และเป็นตัวบอกว่าเราได้ใช้ร่างกายจนถึงขีดสุด ซึ่งหากพักผ่อนอย่างเพียงพอ ประสิทธิภาพการปั่นก็จะดีขึ้นในครั้งต่อๆ ไป

3. ล้า เพลีย หมดแรงและปวดเมื่อย (Overreaching) – เป็นการตอบสนองของร่างกายคล้ายๆ กับข้อสอง แต่ชี้ว่าเราพยายามฝืนขอบเขตสมรรถภาพร่างกาย ต้องพักผ่อนมากกว่าข้อ 2 แต่เมื่อร่างกายฟื้นฟูรักษาตัวเองแล้ว ประสิทธิภาพการปั่นก็จะดีขึ้นเช่นกัน

4. ฝึกซ้อมเกินขนาด (Overtraining) – เป็นอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยระยะยาว อาจจะเกินหนึ่งสัปดาห์ไปจนถึงหนึ่งเดือน เกิดจากการฝืนใช้ร่างกายจนเกินความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง และร่างกายจะใช้เวลาฟื้นฟูนานมากเป็นพิเศษ กรณีนี้ควรหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด เพราะนอกจากจะเสียเวลาพักฟื้นแล้ว ร่างกายเราจะทรุดเร็วอีกด้วย

6 วิธีฟื้นฟูร่างกายหลังการปั่น

1. Warmdown

หลังจากที่เราปั่นไกลๆ หรือซ้อมหนักมา ไม่ควรลงจากรถทันที ต้อง warmdown ก่อนเพื่อลดปริมาณกรดแลคติคที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อครับ อย่างน้อยควรปั่นด้วยเกียร์เบาๆ ที่รอบขา 80-90 รอบ สักสิบนาทีหรือ 2-3 กิโลเมตรก่อนลงจากรถ การปั่นเบาๆ จะช่วยให้ร่างกายปรับอัตราการเต้นหัวใจและการหายใจให้เป็นปรกติ

2. ยืดเส้น (Stretching)

มีท่ายืดง่ายๆ ที่ควรทำหลังการปั่นสิบท่าด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อเราไม่ตึงแข็งและปวดเมื่อยกว่าที่ควรจะเป็น การยืดกล้ามเนื้อยังช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มระยะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ (range of motion) กล้ามเนื้อที่ตึงแข็งจะบาดเจ็บได้ง่ายและให้พลังได้น้อยกว่ากล้ามเนื้อที่ยืดหยุ่นได้ดี

3. น้ำ (Hydration)

ระหว่างปั่น
ระหว่างการปั่นร่างกายจะศูนย์เสียน้ำเยอะมากโดยที่เราไม่รู้ตัวในรูปเหงื่อ เวลาปั่นแล้วเหงื่อออกก็ไม่ค่อยรู้สึกเพราะมันโดนลมกระทบ ระเหยไป การสูญเสียน้ำระหว่างการปั่นจะเพิ่ม Heart rate (ซึ่งไม่ดี) ลดค่า VO2 Max, ลดความตื่นตัว (อันตราย) และอาจทำให้เป็นตะคริวง่ายขึ้ิน เพราะฉะนั้นต้องจิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างปั่น อย่าให้คอแห้งผากไม่ดีต่อร่างกายครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องปั่นกลางแดดจัด

หลังปั่น
ถ้าอยากรู้ว่าเราเสียน้ำไปเท่าไรจากการปั่น ให้ชั่งน้ำหนักก่อนปั่นและหลังปั่น ดูส่วนต่างของน้ำหนักแล้วให้ดื่มน้ำชดเชยเท่าที่เสียไป น้ำเปล่าหนึ่งลิตรมีน้ำหนักหนึ่งกิโล ถ้าเสียน้ำหนักตัวไปสองกิโลอย่างน้อยควรดื่มสักสองลิตร ไม่ควรดื่มนมสดเพราะมีไขมันมากเกินไปและร่างกายย่อยได้ยาก

4. อาหาร (Refuelling)

มีสารอาหารสองอย่างที่ร่างกายเราต้องการมากที่สุดหลังการปั่นคือคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน คาร์โบไฮเดรตช่วยเติมไกลโคเจนที่ร่างกายสูญเสีย ส่วนโปรตีนช่วยซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อ

a.) อาหารก่อนและระหว่างการปั่น
ก่อนจะออกปั่นควรทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่นข้าว ขนมปัง กล้วย เพื่อช่วยลดอาการเมื่อยล้าระหว่างการปั่น เหมือนชาร์จแบตให้เต็มก่อนจะเริ่มใช้แรงครับ หากต้องออกปั่นนานๆ เกินสองชั่วโมงก็ควรจะมีขนมหรืออาหารติดตัวไปด้วย ถ้าไม่สะดวกอย่างน้อยควรจอดพักหาอะไรทานบ้าง จะช่วยลดอาการเหนื่อยล้าได้ดี ผลการวิจัยบอกว่าโปรที่ปั่นรายการแกรนด์ทัวร์ยาวหลายๆ วันได้พลังงานที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวันกว่าครึ่งจากการทานอาหารระหว่างการปั่นครับ

b.) อาหารหลังการปั่น
เราควรเริ่มรับประทานอาหารหลังการปั่นหลังจาก warmdown และยืดกล้ามเนื้อเสร็จแล้วทันที ช่วง 30 นาทีถึงสี่ชั่วโมงหลังการปั่นร่างกายเราจะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตไปเป็นไกลโคเจนเร็วกกว่าปรกติสามเท่า (ถ้าไม่อยากอ้วนก็ควรจะทานอาหารในช่วงเวลานี้)

c.) อาหารที่ควรและไม่ควรรับประทาน
ควรทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสูง พยายามทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหาร junk food อาหารทอดอมน้ำมัน อาหารที่แย่ก็ยังแย่อยู่ดีไม่ว่าจะกินตอนไหนก็ตาม พยายามเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบหมู่และหลากหลายครับ ข้าวของไทยเรานี่ดีมาก โดยเฉพาะข้าวไม่ขัดสีมีวิตามิน เกลือแร่ คาร์โบไฮเดรตที่จำเป็นครบถ้วน มีสารอาหารดีกว่าขนมปังขาว กับข้าวก็ขอให้มีผักพอสมควรและมีเนื้อสัตว์เพื่อเพิ่มโปรตีนที่จำเป็น ข้าวแกงไทยๆ อาหารตามสั่ง ทานได้ เลือกร้านที่ทำสะอาดและไม่ทำทิ้งไว้นาน หรือถ้าที่บ้านทำกับข้าวไว้ก็กินของที่บ้าน อาหารที่เราทำเองเรารู้ว่าใส่อะไรลงไปบ้าง ไม่เหมือนที่ร้านอาจจะมีผงชูรส หรือทำเก็บไว้นานแล้ว ไม่ดีต่อร่างกายครับ

เวลาเราปั่นเสร็จใหม่ๆ เราจะหิวมากและมักจะละเลย กินอย่างไม่เลือก ต้องมีสติเลือกทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครับ ไม่อย่างนั้นความตั้งใจในการฝึกซ้อมก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร คนที่พยายามลดน้ำหนักด้วยการปั่นก็คงไม่เห็นน้ำหนักตัวเองลดง่ายๆ ถ้าไม่ระมัดระวัง อาหารที่เราทานเป็นตัวกำหนดลักษณะร่างกาย 80% อีก 20% คือการออกกำลังกาย ยังไงการกินที่ถูกต้องก็สำคัญกว่าการออกกำลังกาย

5. ออกปั่นแบบชิลล์ๆ

การปั่นแบบสบายๆ กินลมชมนกจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดกรดแลคติคในกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้ร่างกายเราฟื้นฟูได้ดีกว่านั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ ครับ ชื่อก็บอกว่าปั่นแบบชิลล์ๆ เพราะฉะนั้นควรปั่นด้วยเกียร์เบาๆ รักษารอบขาไว้ อย่าให้หนักจนหอบเหนื่อย เอาแบบปั่นไปคุยไปได้ ปั่นอย่างนี้สักหนึ่งชั่วโมง

6. นอน

ร่างกายมนุษย์มีเวลาพักผ่อนและฟื้นฟูระบบต่างๆ ก็แค่ช่วงที่่เรานอนหลับ เพราะฉะนั้นนอนให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง และควรเข้านอนก่อนสี่ทุ่มถ้าเป็นไปได้ ช่วงก่อนเที่ยงคืนจะเป็นเวลาที่ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้ดีและเร็วที่สุดครับ พยายามนอนให้เป็นเวลา คนที่ต้องทำงานทุกเช้าอาจจะนอนให้ครบ 7-8 ชั่วโมงได้ลำบาก แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นครับ ร่างกายเราจะอ่อนแอหลังจากการฝึกซ้อมหรือออกปั่นหนักๆ ในวันรุ่งขึ้นถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจจะเป็นไข้หรือมีโรคอื่นแทรกซ้อนได้ง่าย เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังฟื้นฟูรักษาตัวเอง

เครดิต http://www.duckingtiger.com/2013/02/04/post-ride-recovery-techniques/

แก้ปัญหาอาการปวดเข่าจากการปั่น จักรยานออกกำลังกาย


การปั่นจักรยานแล้วเกิดความรู้สึกว่า “ปวดเข่า” ทั้งที่เกิดในระหว่างการออกกำลังกายและที่เกิดหลังจากออกกำลังกาย บางคนคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากการปั่นจักรยาน มีการเคลื่อนไหวและใช้แรงที่หัวเข่า ดังนั้นการเกิดความรู้สึกปวดเข่าบ้างจึงเป็นเรื่องปกติ ! แต่… คุณทราบไหมว่าจริงๆ แล้วหากไม่นับในผู้ที่มีปัญหาในเรื่องอาการข้อเข่า ที่เกิดจากการบาดเจ็บ หรือเป็นโรคไขข้อมาก่อนและมีอาการกำเริบเองแล้ว การที่เรารู้สึกปวดหัวเข่าจากการปั่นจักรยาน เป็นเรื่องที่… ผิดปกติ ! เพราะจักรยานนั้นหากใช้งานอย่างถูกต้องแล้ว มันเป็น อุปกรณ์ออกกำลังกาย ที่จะไม่เกิดแรงกดรุนแรงที่หัวเข่าจนเกิดอาการบาดเจ็บได้ แม้จะเป็นอาการปวดเข่าไม่มาก แต่ก็เป็นสัญญาณว่ามันมีอะไรผิดปกติในการใช้งานจักรยานแล้วล่ะ !

สาเหตุที่มาของอาการปวดเขาจากการปั่นจักรยาน ที่พบมากที่สุด ก็คือ การปรับขนาดความสูงของเบาะที่ไม่เหมาะสม ความสูงที่น้อยเกิดไป เวลาปั่น หัวเข่าจะทำมุมแหลม อยู่แทบตลอดเวลา นั่นทำให้เกิดการเสียดสีตรงข้อต่อที่หัวเข่า ซึ่งเป็นที่มาของอาการปวดเข่าในขณะปั่น หรือหลังจากปั่นเสร็จแล้ว ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนานๆ อาจเกิดปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมถามหากันได้เลยทีเดียว ! แต่… มันเป็นความผิดพลาดที่แก้ไขได้ไม่ยาก หากเราคอยสังเกตอาการของตัวเราเองและเอาใจใส่ในเรื่องผิดปกติอยู่เสมอ

การแก้ไขก็เพียงแต่ปรับความสูงของเบาะให้เพิ่มขึ้น ให้ดูที่เวลาปั่น หัวเข่าจะทำมุมเป็นมุมป้านไม่ใช่มุมแหลม การเหยียดขาเวลาปั่นสุด ขาเกือบจะตรง การปั่นในลักษณะนี้จะไม่เกิดแรงกดที่หัวเข่าที่ทำให้การปวดได้

แต่หากว่าใครที่เคยมีอาการข้อเข่าเสื่อม หรือมีอาการบาดเจ็บมาก่อน ก็สามารถปั่นจักรยานได้ แต่ควรเป็นการปั่นทางเรียบ แต่หากจะให้ดี ควรเริ่มต้นจากการปั่นจักรยานประเภท Spinning Bike ที่ปั่นอยู่กับที่ก่อน เพื่อให้กล้ามเนื้อและหัวเข่ามีความพร้อม ขึงค่อยออกไปปั่นตามถนน แต่จริงๆ แล้วการปั่นในบ้านก็ได้ผลดีในทางการออกกำลังกายเช่นเดียวกัน จะดีกว่าด้วยซ้ำในเรื่องความปลอดภัย และไม่เกิดปัญหาเรื่องแรงกระแทกที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บกำเริบ

ขอย้ำอีกครั้งว่า การปั่น จักรยานออกกำลังกาย นั้นหากเป็นปกติและถูกต้องแล้ว มันจะไม่ก่อให้เกิดอาการปวดที่หัวเข่า หากว่ามีอาการเมื่อใด ขอให้เริ่มต้นหาสาเหตุ และแก้ไข อย่าชะล่าใจ มันจะกลายเป็นอาการเจ็บเรื้อรังขึ้นมาได้

6 อาการบาดเจ็บจากการปั่นจักรยาน ที่นักปั่นต้องรู้

ด้วยเทรนด์จักรยานที่มาแรง ทำให้คนหันมาขี่จักรยานกันมากขึ้น ไม่ว่าจะขี่ออกกำลังกาย หรือ ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง และแน่นอนสิ่งที่นักปั่นหน้าใหม่ หน้าเก่า เลี่ยงไม่ได้คืออาการบาดเจ็บ หรือ เจ็บปวดตามร่างกาย

โดยเฉพาะอาการ "เจ็บก้น" ที่เชื่อแน่ว่านักปั่นหน้าใหม่ต้องประสบด้วยตัวเองกันทุกคน วันนี้เลยคัดบทความดีๆ เรื่องการบาดเจ็บ และการแก้ปัญหา ของ ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช จาก นิตยสาร Men′s health มาให้อ่านกัน


ปวดคอและหลัง

อาจเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ปั่นจักรยานเสือหมอบ เพราะด้วยดีไซน์ของตัวจักรยานที่ต้องก้มตัวและเงยศีรษะในขณะปั่น เพื่อลดแรงต้านของอากาศตามหลักแอโรไดนามิก โดยจะสังเกตเห็นว่าระดับของอานจะอยู่สูงกว่าแฮนด์ (ซึ่งในการแข่งขันจักรยาน นักกีฬาและทีมงานต้องหารสารพัดวิธีในการเอาชนะแรงต้านอากาศ เพื่อให้เกิดการได้เปรียบคู่แข่ง และเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อชัยชนะ) การที่ต้องอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ นั้นจำเป็นต้องมีความพร้อมของกล้ามเนื้อคอ หลัง และลำตัวที่ดี ซึ่งมีทั้งความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และความทนทาน นอกจากตัวนักกีฬาแล้ว จักรยานเองก็มีผลเช่นกัน ควรใส่ใจกับความสูงของอาน และระยะระหว่างอานกับแฮนด์ เช่น ถ้าตั้งอานสูงเกินไป นักกีฬาจะต้องก้มตัวและเงยศีรษะมากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ การปรับระดับของอานยังมีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันการบาดเจ็บของขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของข้อสะโพกและข้อเข่า ระดับของอานที่เหมาะสมคือ เมื่อคุณนั่งบนอาน และถีบขาให้บันไดวางเท้าอยู่ในตำแหน่งต่ำสุด (6 นาฬิกา) เข่าควรอยู่ในลักษณะงอประมาณ 30 องศา

ปวดก้น

เป็นปัญหาที่เจอบ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกมือใหม่หัดปั่นทั้งหลาย ซึ่งเกิดในตำแหน่งของปุ่มกระดูกบริเวณก้นเกิดการกดและเสียดสีกับอาน หากปรับตำแหน่งอานและเลือกอานที่ไม่แข็งจนเกินไปก็พอจะช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งใครที่ตั้งใจจะปั่นจักรยานจริงจัง แนะนำให้ลงทุนซื้อกางเกงสำหรับปั่นจักรยานมาสวมใส่ เพราะมีการบุนวมในบริเวณที่เป็นจุดกดหรือเสียดสี

มือชา

เกิดจากเส้นประสาทไปกดทับบริเวณโคนฝ่ามือด้านนิ้วก้อยซึ่งอาจเกิดจากการออกแรงกดส่วนดังกล่าวที่แฮนด์ในระหว่างการขับขี่มากเกินไปหรือนานเกินไป ทำให้เส้นประสาทถูกรบกวน เกิดอาการชาบริเวณนิ้วนางและนิ้วก้อยที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นนี้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทนี้ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อของมือที่ทำหน้าที่กางนิ้วและหุบนิ้ว การป้องกันสามารถทำได้โดยขยับมือเปลี่ยนตำแหน่งในการจับแฮนด์เป็นครั้งคราวในขณะขับขี่ และอาจสวมถุงมือเพื่อลดแรงกดต่อเส้นประสาท

ปวดเข่า

สามารถแบ่งกลุ่มใหญ่ ๆ ได้เป็นกลุ่มที่ปวดด้านหน้า และกลุ่มที่ปวดด้านข้างของข้อเข่า โดยอาการปวดบริเวณด้านหน้าของข้อเข่านั้นอาจสังเกตได้จากตำแหน่งที่มีอาการปวด หรือจุดที่กดเจ็บ โดยถ้าปวดบริเวณกระดูกสะบ้าหรือปวดลึก ๆ ก็จะเป็นปัญหาการอักเสบของกระดูกอ่อนผิวข้อของกระดูกสะบ้า ถ้าเจ็บบริเวณขอบบนหรือบริเวณเหนือต่อกระดูกสะบ้าก็จะเป็นการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อต้นขา แต่ถ้าเจ็บต่ำกว่าระดับของกระดูกสะบ้าลงมาก็จะเป้นการอักเสบของเอ็นสะบ้า

อาการปวดด้านหน้าของข้อเข่ามีปัจจัยเสี่ยงจากการที่อานอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปซึ่งทำให้ข้อเข่าอยู่ในท่างอมากกว่าที่ควรจะเป็นการรักษานั้นควรลดความหนักของการปั่นลง โดยการปั่นในทางราบและใช้การปรับเกียร์เข้าช่วย ควรประคบเย็นซึ่งอาจทำง่าย ๆ โดยใช้ก้อนน้ำเข็งถูรอบ ๆ เข่าหลังจากการปั่น และอาจรับประทานยาแก้ปวดหรือคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการ เมื่อทุเลาลงแล้วก็ควรบริหารสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาต่อไป

ปวดด้านข้างสะโพก และปวดด้านข้างข้อเข่า

มักเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับเอ็นแผ่ซึ่งอยู่ด้านข้างของสะโพกและต้นขามีชื่อว่า IT Band โดยในระหว่างการปั่นอาจเกิดการเสียดสีกับปุ่มกระดูกบริเวณด้านข้างของสะโพก และปุ่มกระดูกด้านข้างของกระดูกต้นขาส่วนปลายซึ่งจะอยู่เหนือจากแนวข้อเข่าขึ้นมาเล็กน้อย ปัจจัยเสี่ยงคือการที่อานอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ทำให้ขณะปั่นข้อเข่าอยู่ในท่าเหยียดมากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ IT Band ตึงและเกิดอาการปวดในบริเวณดังกล่าว การรักษาก็ทำคล้ายกับอาการปวดเข่า คือ ลดความหนักของการปั่นลง ประคบเย็น รับประทานยาบรรเทาอาการ และควรบริหารเพื่อยืดเหยียด IT Band รวมทั้งกล้ามเนื้อข้อสะโพกด้านข้างและด้านหลัง

ปวดเอ็นร้อยหวาย

ซึ่งจะคลำได้เป็นลำเอ็นที่ด้านหลังของข้อเท้าโดยเอ็นนี้จะเป็นเอ็นของกล้ามเนื้อน่องทำหน้าที่ออกแรงจิกปลายเท้าลง อาการปวดที่เกิดขึ้นเป็นการอักเสบของเอ็นร้อยหวาย ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการนี้ ได้แก่ การวางเท้าบนบันไดในตำแหน่งที่ค่อนไปทางด้านหลังมากกว่าที่ควรจะเป็น จนทำให้ต้องมีการเคลื่อนไหวของข้อเท้ามากขึ้น หรืออานอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป ก็จะทำให้กล้ามเนื้อน่องทำงานได้ไม่เต็มที่ การตึงตัวของกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในนักปั่น ซึ่งต้องอาศัยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ โดยการยืนแล้วางเท้าข้างที่ต้องการยึดกล้ามเนื้อไปด้านหลัง จากนั้นโน้มตัวมาด้านหน้าโดยการงอเข่าของขาหน้า ส่วนขาหลังไม่ยกส้นเท้า เข่าควรอยู่ในท่าเหยียดตรง

การปั่นจักรยานถือเป็นรูปแบบของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ที่สามารถใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทาง การใส่ใจในรายละเอียดของจักรยาน ท่าทางในการปั่นและการบริหารเพื่อให้กล้ามเนื้อที่ต้องใช้มีทั้งความแข็งแรงและยืดหยุ่นดีจะช่วยในการป้องกันการบาดเจ็บได้นอกจากนี้คงต้องช่วยกันผลักดันในเชิงนโยบายสาธารณะให้มีการส่งเสริมความปลอดภัยในการปั่นจักรยานบนท้องถนนมากขึ้นเชื่อว่าอาจทำให้ชาวกรุงอีกหลายคนหันมาปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น


ที่มา นิตยสาร Men′s health

วีดีโอ โชว์ปั่นล้อเดียว

“หวานหวาน อรุณณภา” กับฉายา “นางฟ้านักปั่น”

"หวานหวาน" อรุณณภา พาณิชจรูญ ดาราสาวสวย จากช่อง 3 เวลานี้ถูกยก ฉายาให้เป็น "นางฟ้านักปั่น" ตัวจริงเสียงจริง

ใครเล่าจะไปคิด ว่าดาราสาวสวย ที่มีใบหน้าฉาบไปด้วยความหวานหยดขนาดนี้ จะผันตัวเองเข้าสู่วงการ 2 ล้อ ที่ไม่ใช่แค่เพื่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว

เธอคนนี้ โด่งดังสุดขีด มาจากละครฟอร์มยักษ์เรื่อง "ขุนศึก" ที่ออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2555

เรียกได้ว่าบทของ "แม่ศรีเมือง" ถือเป็นการ "แจ้งเกิด" แบบเต็มตัวในวงการบันเทิง ตั้งแต่ละครเรื่องแรก

ช่วงออนแอร์ ละครเรื่องนี้กระชากเรตติ้งจากหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ให้ถวิลหาแต่ "แม่ศรีเมือง" กันทั้งเมือง!



นอกเหนือจากบทบาทในวงการบันเทิง ทุกวันนี้ กิจกรรมที่โปรดปรานสุดๆ ของสาวคนนี้ คือ "การปั่นจักรยาน"

เธอไม่เพียงแต่เลือกเล่นกีฬาชนิดนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรง แต่ "หวานหวาน" เลือกเล่นกีฬาชนิดนี้อย่างจริงจัง และลงแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ อย่างเป็นทางการมาแล้ว

บนเส้นทางที่ยากลำบาก การปั่นขึ้นเขาลงห้วย ไปทุกที่ที่มีทาง เธอคนนี้ได้สัมผัสมาหมด

ไลฟ์สไตล์ชีวิตแบบสมบุกสมบัน ขัดกับภาพลักษณ์ขนาดนี้ "สนุกสปอร์ต" ขอพาไปทำความรู้จักกับสาวสวยสุดแกร่งรายนี้ให้มากขึ้น

มาดูซิว่า "หวานหวาน" กับ "จักรยาน" เส้นทาง มาบรรจบกันได้อย่างไร?


จุดเริ่มต้นของ การหันมาเล่นกีฬาจักรยาน เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

- หวานปั่นจักรยานมาได้ประมาณเกือบๆจะ 2 ปี แต่เริ่มมาฝึกเทรนจริงๆจังๆ แบบลงแข่งขันราวๆ 1 ปี จุดเริ่มต้นมาจากการที่มีอาการบาดเจ็บบริเวณเข่า เวลาออกกำลังกายโดยการวิ่ง การเต้น การออกกำลังกายที่ลง impact กับเข่าแบบขาดการวอร์มมาตลอด

พอลองปรึกษาแพทย์ เขาก็เลยแนะนำว่า ถ้ายังชอบเล่นกีฬาก็มีให้เลือก ระหว่าง "จักรยาน" และ "ว่ายน้ำ" เลยตัดสินใจเลือกจักรยาน เพราะได้รับคำแนะนำจากพี่ที่สนิทคือ "ดร.เอก-ณัฐกฤษฎ์ ทิวไผ่งาม" ที่เป็นทั้งโค้ชและชักชวนให้หันมาลองปั่นจักรยาน



ทำไมถึงชื่นชอบและเลือกกีฬาชนิดนี้

- ตอนช่วงแรกๆ เลยเริ่มปั่นเสือภูเขา หวานชอบที่ได้เที่ยวและได้เล่นกีฬาในเวลาเดียวกัน ที่จริงเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้งตั้งแต่เด็กๆ เช่น ขี่ม้า, ว่ายน้ำ, วิ่ง, บาสเก็ตบอล, เทนนิส รู้สึกว่ามันทำให้เรารู้สึกใกล้ธรรมชาติมากขึ้น

แต่พอได้ฝึกฝนแบบจริงจังมากขึ้น ปั่นเสือหมอบ ปั่นแบบไตรกีฬา มันเลยเริ่มหลงรักเสน่ห์ เวลาเราฝึกซ้อมและแข่งขัน เพราะมันได้สมาธิ ได้อยู่กับตัวเองและคุยกับตัวเองตลอดเวลา หวานชอบค่ะ

เหตุผลนอกเหนือจากนั้น แน่นอนว่ามีเรื่องเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ และครอบครัวใหม่ๆ ที่เราได้แบ่งปัน ได้แชร์ และแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นความสุข ที่ทำให้หวานหาซื้อด้วยเงินไม่ได้


ตั้งแต่เริ่มปั่นมานี่ เคยล้มแบบหนักๆ บ้างหรือเปล่า ?

- เคยค่ะ หนักสุดคือที่ถนนสุขุมวิท เส้นพัทยาใต้ จ.ระยอง เราปั่นชิดซ้ายของเรามา แล้วข้างหน้ามันจะมีช่วงเขตก่อสร้างที่มีรถตักดินคันเล็กๆอยู่ ซึ่งพอหวานและพี่ปั่นเข้าไปใกล้ จู่ๆ รถตักดินมันดันหันหัวออกมาข้างถนน

ซึ่งวินาทีนั้นถ้าเราไม่หักหลบ เราก็ชนกับหัวตักรถแน่นอน เราจึงมองหลังและรีบหักขวาออกเลย หวานกำเบรคช้า ล้อหน้าหวานเลยไปเกี่ยวเอาล้อหลังพี่ หวานล้มแบบครูดไปกับถนน ช่วงท้ายทอยลงไปน๊อคพื้นหนึ่งที คือดีที่ใส่หมวกกันน็อค ไม่งั้นคงไม่มาอยู่ตรงนี้แน่นอน



ตั้งแต่เริ่มปั่นจักรยานมา ข้อดีที่ได้รับ คืออะไร?

- เยอะมากๆเลยค่ะ ที่เด่นๆเลยก็ สมาธิ ได้อยู่กับตัวเอง ได้ความแข็งแรง ได้ออกไปเจอธรรมชาติ ได้ครอบครัวพี่ๆน้องๆจักรยาน ได้พบปะผู้คนใหม่ๆที่น่ารัก ได้เพื่อนรัก เพื่อนแท้


มีนักปั่นจักรยานคนใดหรือใครเป็นไอดอลมั้ยครับ?

- หลายคนนะคะ เลือกไม่ถูก มีทั้งคนไทยและต่างชาติ ถ้าเป็นคนใกล้ตัวก็พี่ "ดร.เอก" เลย เพราะเป็นคนชักชวนให้หวานปั่น คอยเทรนนิ่งให้ ที่สำคัญเขาได้ ให้คำแนะนำที่ดี และ มีประโยชน์ รวมทั้งตัวพี่เค้าเอง ก็เป็นคนมุ่งมั่นในการซ้อม และฝึกฝนตัวเองอย่างดี เป็นแบบอย่างที่สุดยอดมากๆ


ทริปที่ประทับใจสุดๆ ตั้งแต่เข้าสู่วงการนักปั่นมา ?

- ทริปที่ประทับใจและตั้งตารอว่าต้องไปปั่นทุกๆปี คือ "สูงสุดแดนสยาม คนพันธุ์อึด พิชิตอินทนนท์" ที่หวานเพิ่งไปร่วมวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 2 แล้ว สวยมาก ท้าทายมาก ประทับใจจริงๆ



แบ่งเวลาอย่างไร ให้กับการปั่นจักรยาน กับ งานบันเทิง ?

- ตอบง่ายๆเลย ว่าเวลาซ้อมคือ "เวลาที่เราว่าง" ซึ่งเวลาว่างที่เราจัดสรรได้เช่น ถ้างานมีคิวเช้าก็ซ้อมบ่าย ไม่ก็เย็น หรืองานมีบ่ายก็ซ้อมเช้าไม่ก็เย็น หรือทำงานช่วงเย็นก็ซ้อมเช้าไม่ก็บ่ายก่อน

ถ้าซ้อมปั่นบนถนนไม่ได้ ก็ซ้อมในยิม หรือไปไม่ทันที่ยิม ก็เอาจักรยานขึ้นเทรนเนอร์ซ้อมปั่นที่บ้าน ขอให้ได้ปั่นค่ะ


เคยลงแข่งรายการอะไรบ้าง ? รวมถึงรางวัลที่เคยได้รับแล้วภูมิใจสุดๆ

-รางวัลที่หวานภูมิใจที่สุด ก็คือรายการ "หัวหินไตรกีฬา" ค่ะ ถึงจะแข่งเป็นทีม Team-Relay แต่พวกเรา 3 คน ตั้งใจซ้อมและสามัคคีกันมาก และเราได้ที่ 5 เป็นทีมหญิงล้วนที่ได้ขึ้นโพเดียม ทีมหญิงทีมชายแข่งรวมกัน มันเจ๋งมาก หวานต้องขอบคุณพี่ อุ้ย และ ฮอนด้า ที่ทำให้การแข่งสนุกมาก



ไม่กลัวผิวเสียแบบที่สาวๆกลัวบ้างเหรอ และมีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไรครับ?

- นี่เลยค่ะ ครีมกันแดด, เสื้อแขนยาว, กางเกงขายาว, ผ้าปิดหน้า, แว่น, หมวก :) จะว่าไปก็ปิดหมดทั้งตัวเลยนะคะ 555

แต่ถ้าเหงื่อออกเยอะ ก็ต้องหมั่นเติมครีมกันแดด ทุกๆ 2 ชั่วโมง และเลือกเวลาปั่น เช้าไม่ก็บ่ายแก่ๆ หรือเย็นๆค่ำๆ ก็ช่วยได้ค่ะ


มองอนาคตของวงการจักรยาน ในเมืองไทยว่าจะเป็นอย่างไรครับ?

- ส่วนตัวแล้ว หวานว่าความนิยมของจักรยานจะมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆค่ะ ไม่ว่าจะแนวกีฬาหรือแนวแฟชั่น เพียงแต่อยากฝากไว้เรื่องนึง คือการปรับตัวของผู้ใช้รถใช้ถนนถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็ขอให้จักรยานได้มีส่วนร่วมระหว่างทางด้วย ใช้ถนนร่วมกันก็ช่วยกันเทคแคร์ ดูแลกันดีกว่าเนอะ



สุดท้ายอยากให้ฝากถึงคนที่เริ่มคิดจะหันมาออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน

- อยากให้ลองมาปั่นนะคะ เดี๋ยวนี้หลายร้านมีตัวสำหรับให้ลองปั่น ชอบก็ตัดสินใจซื้อ ไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นแพง หรือถ้าไปลองแล้วไม่ใช่ตัวเราก็หากีฬาอย่างอื่นเล่น หวานสนับสนุนกีฬาทุกชนิด ขอแค่เราชอบ มันดีหมดแน่นอนค่ะ เล่นกีฬาอะไรก็ได้ ยังไงก็เพื่อสุขภาพของเรานะคะ

เป็นไงบ้างครับ กับมุมมองและชีวิตอีกด้านของนักแสดงสาวสวยวัย 24 ปีคนนี้ อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ย่อหน้าแรก “นางฟ้านักปั่น” ฉายานี้เหมาะกับเธอที่สุดแล้ว " หวานหวาน" อรุณณภา พาณิชจรูญ